ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุบันไดเลื่อนมีให้เราเห็นอยู่บ่อยครั้ง และอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อนนั้นไม่ได้มีอยู่แค่ในประเทศไทย
ในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อนเกิดขึ้นทุกปีเช่นกันครับ อย่างเช่น เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2024 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากบันไดเลื่อนอีกหนึ่งรายจากการที่เสื้อแจ็กเก็ตติดที่ราวจับบันไดเลื่อน
หมายความว่าเพียงแค่เรายืนชิดด้านข้างบันไดเลื่อนมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ แล้วถ้าเราต้องยืนชิดฝั่งใดฝั่งหนึ่งเพื่อเว้นช่องให้มีทางเดินบนบันไดเลื่อนด้วยจะอันตรายยิ่งกว่าเดิมไหมนะ? ลองมาดูในมุมมองของชาวญี่ปุ่นกันครับ
เดินบนบันไดเลื่อนปลอดภัยหรือไม่?
ในปี ค.ศ. 2018 – 2019 ประเทศญี่ปุ่นมีอุบัติเหตุที่เกิดจากบันไดเลื่อน 1,550 ครั้ง 805 ครั้งเกิดจากการใช้งานที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่น การไม่จับราวบันได หรือสะดุดขณะเดิน และเป็นอุบัติเหตุจากการล้มบนบันไดเลื่อนถึง 608 ครั้ง
ในญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้า หรือสถานบริการอื่น ๆ แทบทั้งหมดล้วนมีบันไดเลื่อนครับ และญี่ปุ่นก็รู้จักกับบันไดเลื่อนมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1914
แต่หลังจากนั้น 53 ปี ในปี ค.ศ. 1967 ประเทศญี่ปุ่นได้มีการรับวัฒนธรรมใหม่ที่เกี่ยวกับการใช้งานบันไดเลื่อนเข้ามาในสังคม นั่นคือการ “เปิดทางให้เดินหนึ่งฝั่ง” โดยที่ผู้ใช้งานบันไดเลื่อนจะต้องยืนชิดฝั่งใดฝั่งหนึ่ง และเปิดทางให้ผู้ที่กำลังรีบสามารถเดินขึ้นหรือลงได้ ซึ่งวัฒนธรรมใหม่นี้เป็นประเด็นถกเถียงถึงความปลอดภัยมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี ค.ศ. 2021 จังหวัดไซตามะได้มีการออกกฎห้ามเดินหรือวิ่งขณะใช้งานบันไดเลื่อน และในปี ค.ศ. 2023 เมืองนาโกยาก็ได้ออกกฎห้ามเช่นเดียวกัน แต่ทั้งสองพื้นที่ไม่มีการกำหนดบทลงโทษอย่างเป็นทางการสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม
หลังจากมีข่าวเกี่ยวกับกฎดังกล่าวออกมา ประชาชนชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับกฏนี้ แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน และถึงแม้จะมีกฏออกมาแล้วก็ยังคงมีคนเดินบนบันไดเลื่อนเช่นเคย ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นช่วงเวลาเร่งรีบ และการยืนเฉย ๆ ใช้เวลานานกว่าเดิน
แต่จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?
ช่องข่าวนิปปอนทีวีได้มีการทำการทดสอบว่าระหว่างการยืนทั้งสองฝั่งกับการเปิดช่องให้เดินหนึ่งฝั่ง แบบไหนเร็วกว่ากัน โดยเงื่อนไขการทดสอบมีดังนี้
- ความยาวรวมของบันไดเลื่อนคือ 20 เมตร
- ผู้ใช้งาน 450 คน
- ผู้ที่เดินบนบันไดเลื่อนคิดเป็น 40% ของผู้ใช้งาน
- ความเร็วของบันไดเลื่อนคือ 0.5 เมตร / 1 วินาที
- เมื่อเดินให้เว้นระยะห่าง 2 ขั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
- หากหยุดยืนทั้งสองด้าน คนสองคนจะยืนขั้นบันไดเดียวกัน โดยเว้นระยะห่าง 1 ขั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ผลการทดสอบออกมาว่า ผู้ใช้งานจำนวน 450 คนของฝั่งที่หยุดยืนทั้งสองด้านจะใช้เวลา 7:09 นาทีในการขึ้นบันไดเลื่อน ในขณะที่ฝั่งที่เปิดทางไว้สำหรับเดินหนึ่งฝั่งจะใช้เวลา 8:21 นาที เวลาต่างกันถึง 1:21 นาที
นั่นหมายความว่าการที่เรายืนบนบันไดเลื่อนทั้งสองฝั่งจะทำให้เราขึ้นหรือลงได้เร็วกว่าการเปิดทางเดินหนึ่งฝั่งเสียอีก ทั้งยังลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุและไม่ต้องออกแรงเดินขึ้นบันไดอีกด้วย เพราะเดิมทีจุดประสงค์ของบันไดเลื่อนก็คือการทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องเสียแรงเดินขึ้น-ลงบันไดอยู่แล้ว
และนอกจากไซตามะกับนาโกยาแล้ว สมาคมลิฟต์แห่งญี่ปุ่นและบริษัทรถไฟหลายแห่งก็ได้มีการรณรงค์ขอความร่วมมือจากผู้ใช้บริการไม่เดินขึ้น-ลงบันไดเลื่อน และหากเร่งรีบจริง ๆ ให้ใช้บันไดแทน
โดยในเว็บไซต์ของสมาคมลิฟต์แห่งญี่ปุ่นได้มีการเขียนไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการใช้งานบันไดเลื่อนว่า ห้ามเดินบนบันไดเลื่อน ดังนั้นจะมองว่าการเดินบนบันไดเลื่อนเป็นเรื่องอันตรายก็ได้เช่นกันครับ
แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมชาวญี่ปุ่นบางส่วนถึงยังคงเดินบนบันไดเลื่อน และทำไมยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษชัดเจนเกี่ยวกับการห้ามเดินบนบันไดเลื่อนออกมาล่ะ?
นั่นเพราะว่า การเดินบนบันไดเลื่อนนั้นกลายเป็นความคุ้นชินสำหรับชาวญี่ปุ่นไปแล้ว และการจะเปลี่ยนแปลงความเคยตัวนั้นมันยาก แต่ถึงอย่างนั้นหลาย ๆ ที่ก็เริ่มมีการรณรงค์ไม่เดินบนบันไดเลื่อนแล้วเช่นกัน ทั้งติดป้ายประกาศ โปสเตอร์ การออกข่าว และบทความสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญมากมาย
คาดว่าในอนาคตจำนวนผู้คนที่เดินบนบันไดเลื่อนในประเทศญี่ปุ่นก็จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ และอุบัติเหตุจากการชนกันล้มบนบันไดเลื่อนก็จะลดลงอย่างมากครับ
สำหรับประเทศไทยที่ไม่มีธรรมเนียมอย่างการเปิดเว้นช่องว่างให้เดินมาตั้งแต่แรกถือว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากนัก และสำหรับผู้ใช้งานบันไดเลื่อนชาวไทย ไม่ว่าจะไปประเทศไหนก็อย่าลืมทำตามกฎการใช้งานบันไดเลื่อนของประเทศนั้นด้วยนะครับ
ไม่เดิน ไม่วิ่ง ยืนจับราวบันได และมีสติตลอดเวลาบนบันไดเลื่อน แค่นี้ก็แทบไม่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุแล้วครับ
ถ้าหากต้องการติดตามข่าวสารญี่ปุ่น คอนเทนต์สนุก ๆ หรือโปรโมชั่นคอร์สเรียนต่าง ๆ ก็สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางด้านล่างครับ
หากสนใจการเรียนภาษาออนไลน์ สามารถดูคอร์สเรียนโรงเรียนภาษาและวัฒนธรรม ส.ส.ท. ได้ที่ www.tpaeduways.com