เวลาออกนอกบ้านหนึ่งในสิ่งที่รู้สึกกังวลใจอยู่เสมอก็คือเรื่องห้องน้ำ ถ้าไปปวดบนรถสาธารณะล่ะ? ถ้าปวดแล้วแถวนั้นไม่มีห้องน้ำล่ะ? หรือถ้าปวดบนทางด่วนล่ะ? แค่คิดก็รู้สึกกังวลขึ้นมาแล้ว!
แต่เวลาไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ความกังวลเรื่องห้องน้ำจะค่อนข้างน้อยเลยครับ เพราะห้องน้ำญี่ปุ่นนี่แทบจะเรียกได้ว่ามีอยู่ทุกที่เลย แถมชักโครกบ้านเขาก็สารพัดฟังก์ชันจนรู้สึกสนุกที่ได้นั่งเสมอ
แต่ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีห้องน้ำที่ดีแค่ไหน ก็ยังมีมุมแปลก ๆ เกี่ยวกับเรื่องห้องน้ำชวนร้อง ‘ห้ะ’ ให้เราได้เห็นอยู่เสมอ มีอะไรบ้างไปดูกันเลย!
สารบัญส้วม ๆ ของห้องน้ำญี่ปุ่น
ปุ่มกดต่าง ๆ บนชักโครกอัตโนมัติ
ก่อนเข้าเรื่องชวน ห้ะ เกี่ยวกับห้องน้ำของญี่ปุ่น เรามาทำความรู้จักกับปุ่มกดต่าง ๆ บนชักโครกกันก่อน เวลาไปใช้งานจริงจะได้ไม่ใช้ผิดวิธี เพราะบางทีการกดผิดปุ่มก็แย่กว่าที่คิด โดยเฉพาะกับท่านชาย
โดยคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเรียกชักโครกแบบนี้ในสองชื่อหลัก ๆ คือ ウォシュレット (uoshuretto / washlet) และ シャワートイレ (shawaa toire / shower toilet)
การกดชักโครกของญี่ปุ่นมีสองแบบ ได้แก่
- 流す大 nagasu dai ปุ่มกดชักโครกน้ำมาก (เวลาถ่ายหนัก)
- 流す小 nagasu shou ปุ่มกดชักโครกน้ำน้อย (เวลาถ่ายเบา)
ซึ่งห้องน้ำบางที่อาจไม่ใช่ปุ่มกดแต่เป็นที่กดชักโครกแบบบ้านเรา โดยดันขึ้นเป็น 大 (dai / หนัก) กดลงเป็น 小 (shou / เบา)
หรือบางที่ถ้าไฮเทคขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นเซนเซอร์ โดยเราต้องยกมือไปตรงหน้าจอเซนเซอร์เพื่อกดน้ำแทน ข้อดีคือ ไม่ต้องสัมผัส ข้อเสียคือ ทำไปทำไม บางทีเซนเซอร์พี่ก็ตรวจจับมือยากเหลือเกิน!
ข้อควรระวังของการกดชักโครกคือชักโครกบางรุ่นไม่สามารถใช้ 小 กับกระดาษชำระได้ ต้องกดล้างแบบ 大 เท่านั้น ดังนั้นสำหรับคนที่ไม่อยากจำยุ่งยากก็กดแค่ 大 เลยก็ได้ครับ ยังไงมันก็ล้างเหมือนกัน
ฟังก์ชันเพิ่มเติมของชักโครกอัตโนมัติ
- おしりー oshiri ー ปุ่มกดน้ำล้างก้น ใช้ได้ทั้งชายและหญิง
- ビデ ー bide ー ปุ่มกดน้ำชำระล้างสำหรับผู้หญิง
- 水勢 ー すいせい ー suisei ー แรงดันน้ำ ถ้าสองปุ่มบนกดแล้วรู้สึกน้ำแรงไม่พอ สามารถเพิ่มได้ แต่ค่อย ๆ เพิ่มครั้งละระดับจะดีกว่านะ
- 音 ー おと ー oto ー เป็นปุ่มสำหรับเปิดใช้เสียงเพื่อกลบเสียงอันไม่พึงประสงค์ของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นเสียงน้ำไหล
- 音量 ー おんりょう ー onryou ー ระดับเสียง ใช้ปรับระดับเสียงตามต้องการหากคิดว่าเสียงของเราอาจจะดังกว่าเสียงที่เล่นอยู่ ก็สามารถเพิ่มเสียงขึ้นได้
- 止 ー と ー to ー หยุด สำหรับใช้ปิดฟังก์ชันที่กำลังใช้งานอยู่ โดยมาจากคำว่า 止める tomeru
- ノズルきれい ー nozuru kirei ー ปุ่มสำหรับทำความสะอาดหัวฉีด ใครที่กลัวหัวฉีดไม่สะอาด ก็กดปุ่มนี้เพื่อทำความสะอาดก่อนใช้งานได้นะครับ
รู้หรือไม่ ร้านสะดวกซื้อสามารถเข้าห้องน้ำได้ฟรีนะ!
ใครที่ข้าศึกบุกในระหว่างเดินชมเมืองก็ไม่ต้องกระวนกระวายไป หากเจอร้านสะดวกซื้อไม่ว่าจะเป็น 7-11 , Lawson หรือ ร้านข้าวหน้าเนื้ออย่าง Matsuya ก็สามารถเดินเข้าห้องน้ำได้เลย
โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อสาขาที่มีขนาดใหญ่ และมีที่นั่งให้กับลูกค้า ก็จะมีห้องน้ำสำหรับลูกค้าค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว และข้อควรรู้ ห้องน้ำในร้านสะดวกซื้อหลาย ๆ สาขา เป็นห้องน้ำรวมชาย – หญิงครับ
วัยรุ่นญี่ปุ่นไม่ใช้น้ำล้างก้น!?
ห้องน้ำญี่ปุ่น หรือเจาะจงยิ่งกว่านั้นคือชักโครกญี่ปุ่นเกือบทั่วประเทศตอนนี้ได้เปลี่ยนมาใช้ชักโครกสารพัดฟังก์ชันที่มีสารพัดปุ่มกดแบบหัวข้อด้านบนแทนชักโครกแบบเก่า
แต่ถึงแม้จะสะดวกขนาดไหนวัยรุ่นญี่ปุ่นส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะไม่ล้างก้นด้วยฟังก์ชันที่ชักโครกมีให้ แต่เลือกทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระแทนเมื่อเข้าห้องน้ำนอกบ้าน เพราะว่า “กลัวสกปรก”
โดยผู้เขียนก็ได้รู้เรื่องนี้เป็นครั้งแรกจากแฟนของเพื่อนที่พูดขึ้นมาในระหว่างที่กำลังดื่มกันในร้านอิซากายะที่ชิบุย่า ต้องยอมรับว่าเมื่อได้ยินครั้งแรกก็ตกใจเหมือนกันจนต้องค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบว่ามันสกปรกจริงไหม แต่ก็แอบแปลกใจมากกว่าตกใจเพราะไม่รู้ว่าบทสนทนาในวงเหล้ามันมาเรื่องนี้ได้ยังไง
และที่น่าสนใจคือส่วนใหญ่คนที่ไม่ใช้ก็จะให้เหตุผลคล้ายกันว่า
“ไม่รู้น้ำที่ฉีดก้นสะอาดไหม”
“กลัวล้างได้ไม่สะอาดเท่าเช็ดเอง”
“ไม่รู้ว่าหัวฉีดสะอาดไหม”
และ “กลัวมีเศษ…ของคนอื่นติดอยู่ที่หัวฉีด” ทำให้คนที่กังวลเรื่องนี้เลือกที่จะใช้กระดาษชำระแทน
แต่ก็มีวัยรุ่นอีกส่วนที่ยังใช้ฟังก์ชันนี้ตามปกติแม้จะใช้ห้องน้ำสาธารณะโดยให้เหตุผลว่า
“มันสะดวกดี”
“การใช้มันกลายเป็นความเคยชินจนรู้สึกแย่เมื่อไม่ได้ใช้”
“ฉันไม่สนใจเพราะก้นฉันสกปรกกว่าอีก”
“ใช้เพราะรู้สึกสดชื่น”
และ “มันสะอาดกว่าเช็ดด้วยกระดาษชำระ”
ซึ่งหลังจากได้ตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้ก็พบว่าผู้ผลิตฝารองชักโครกอัตโนมัติได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าน้ำที่ใช้ล้างก้นนั้นเป็นน้ำดื่ม เช่น น้ำประปา นอกจากนี้ตัวชักโครกยังมีฟังก์ชันทำความสะอาดตัวเองด้วย ดังนั้นหัวฉีดจึงจะทำความสะอาดทั้งด้านในและด้านนอกด้วยน้ำสะอาดที่มีส่วนผสมในการฆ่าเชื้อ
เพราะฉะนั้นสำหรับใครที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วเจอชักโครกอัตโนมัติแบบนี้ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องความสะอาดไป สามารถใช้ได้สบายใจหายห่วง แต่ก็เลือกห้องน้ำที่สภาพดูสะอาดด้วยนะ!
คนญี่ปุ่นบางส่วนไม่ปิดประตูห้องน้ำเวลาใช้งาน!?
การเปิด-ปิดประตูห้องน้ำเป็นที่ถกเถียง และมีการตั้งคำถามกันเยอะมากบนโลกอินเทอร์เน็ตญี่ปุ่น รวมถึงยังเคยมีคำถามอย่าง “เข้าห้องน้ำที่บ้านปิดประตูห้องน้ำหรือไม่ปิด” ในรายการโทรทัศน์อย่าง 「そんなコト考えた事なかったクイズ!トリニクって何の肉!?」ของสถานีโทรทัศน์ TV Asahi ด้วย
ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ เนื่องจากเราถูกสอนให้ปิดประตูห้องน้ำมาตั้งแต่เด็ก ๆ ถ้าหากเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีคนอยู่บ้านก็แล้วแต่คนว่าจะเปิดหรือปิดประตูในเวลาอาบน้ำ แต่ถ้าเป็นการขับถ่ายคิดว่าคงปิดประตูกันทุกคน
แต่คนญี่ปุ่นบางส่วนรู้สึกว่าการเปิดประตูห้องน้ำไว้มันสบายใจกว่า โดยมีสาเหตุมาจากที่ญี่ปุ่นมีภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อย คนญี่ปุ่นบางส่วนจึงมักเปิดประตูห้องน้ำเอาไว้เพื่อไม่ให้ประตูมันติดจนโดนขังอยู่ในห้องน้ำ
ที่น่าสนใจคือคนที่เปิดประตูห้องน้ำเวลาทำธุระส่วนตัวมีทั้งเพศหญิงและชาย ช่วงวัยเองก็มีตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุเลยครับ
ในรายการ 「トリニクって何の肉!?」 ไอดอลสาวชื่อดังคนหนึ่งก็ยอมรับว่าเธอไม่ปิดประตูห้องน้ำเหมือนกัน โดยให้เหตุผลว่า “จะได้คุยกับครอบครัวหรือดูทีวีไปด้วยได้” แต่ถ้าถ่ายหนักเธอก็จะถูกที่บ้านขอให้ปิดประตูห้องน้ำ
นอกจากไอดอลสาวคนนี้แล้ว ดาราสาวอีก 6 คนในรายการก็ยอมรับว่าตัวเธอก็ไม่ปิดประตูห้องน้ำเช่นกัน และมีหลาย ๆ เหตุผลแตกต่างกันไป
แต่ในอินเทอร์เน็ตของญี่ปุ่น เมื่อมีการถามถึงเรื่อง “เวลาทำธุระส่วนตัวเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้ไหม” มีการตอบทั้ง ไม่เปิด และ เปิด แต่เหตุผลส่วนใหญ่ของคนที่บอกว่า เปิดประตูห้องน้ำตอนทำธุระส่วนตัวนั้นจะเกี่ยวข้องกับการถูกขังในห้องน้ำครับ
เนื่องจากมักมีข่าวคนถูกขังอยู่ในห้องน้ำนานหลายชั่วโมง บางรายโชคร้ายก็ติดอยู่หลายวัน ทำให้มีความกังวลเรื่องการถูกขังอยู่ในห้องน้ำเกิดขึ้น ก็เลยกลายเป็นการไม่ปิดประตูห้องน้ำขึ้นมานั่นเองครับ
หรือต่อให้ปิดประตูบางคนก็จะไม่ล็อคประตูห้องน้ำเพราะกลัวตัวล็อคมีปัญหาแล้วเปิดไม่ได้ จนบางครั้งด้วยความเคยชิน ก็ลืมล็อคประตูห้องน้ำในตอนที่ใช้ห้องน้ำสาธารณะจนมีเหตุการณ์คนอื่นเปิดประตูเข้ามาเจอระหว่างนั่งทำธุระด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็มีโพสต์ระบายและปรึกษาอยู่มากมายบนเว็บบอร์ดญี่ปุ่นเช่นกันครับ
อันที่จริงนอกจากกลัวการถูกขังอยู่ในห้องน้ำแล้ว ชาวเน็ตญี่ปุ่นยังให้เหตุผลอื่น ๆ ไว้ด้วยนะครับ เช่น
“ฉันมีลูกน้อยที่จะร้องไห้ถ้าไม่เห็นฉัน ฉันก็เลยเปิดประตูทิ้งไว้จนกลายเป็นนิสัย”
“รู้สึกเป็นอิสระดีเวลานั่งผ่อนคลายในห้องน้ำพร้อมเปิดประตูทิ้งไว้”
“ฉันขี้เกียจเปิดไฟห้องน้ำ เปิดประตูทิ้งไว้มันง่ายกว่า”
“เราเปิดกันทั้งบ้านเป็นปกติเลย!”
“ฉันเป็นโรคกลัวที่แคบ ก็เลยต้องเปิดประตูเอาไว้”
“จะเปิดทิ้งไว้ถ้าถ่ายเบา แต่จะปิดประตูถ้าถ่ายหนัก ^^;”
“ผมเคยล้มในห้องน้ำเพราะมีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง ก็เลยคิดว่าอายก็ดีกว่าตาย อย่างน้อยถ้าล้มคนในบ้านก็จะเห็น”
“ฉันก็ไม่ปิดเหมือนกัน แม่สอนเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ เพื่อป้องกันภัยพิบัติ เคยมีครั้งหนึ่งตอนเข้าห้องน้ำแล้วเกิดแผ่นดินไหว ชั้นวางของหน้าประตูพังลงมา ถ้าฉันปิดประตูฉันคงติดในห้องน้ำแน่นอน”
และ “ฉันมีแมวอยู่ 5 ตัว ถ้าปิดประตูพวกเขาก็จะร้องเรียกและข่วนประตู ก็เลยเปิดประตูมาตลอด”
แต่อย่าเข้าใจผิดว่าคนญี่ปุ่นเห็นด้วยกับการไม่ปิดประตูห้องน้ำกันทุกคนนะครับ เพราะส่วนใหญ่ก็ยังคงมองว่าต่อให้อยู่ที่บ้านถ้ามีคนในครอบครัวอยู่ด้วย อย่างน้อยก็ควรปิดประตูเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนคนอื่น
จากเรื่องห้องน้ำญี่ปุ่นในบทความนี้ก็พอทำให้เราเห็นภาพได้ว่า ประเทศที่เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งก็อาจมีมุมมองหรือการป้องกันที่แปลกกว่าที่เราคิดครับ ถึงแม้การเปิดประตูห้องน้ำตอนใช้งานอาจจะฟังดูแปลก แต่สำหรับบางคนมันคือวิธีที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยในระหว่างการทำธุระ
ผู้เขียนเองก็คิดว่าการเปิดประตูห้องน้ำเฉพาะเวลาอยู่ในบ้านของตัวเองมันก็คงไม่มีปัญหามากนัก ถ้าหากครอบครัวโอเคนะ!
สำหรับผู้ที่สนใจการทำงานในประเทศญี่ปุ่นหรืออยากรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานในประเทศญี่ปุ่นสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางด้านล่างครับ
สนใจการเรียนภาษาออนไลน์ สามารถดูคอร์สเรียนโรงเรียนภาษาและวัฒนธรรม ส.ส.ท. ได้ที่ www.tpaeduways.com