การคุกคามหรือ Harassment เป็นคำศัพท์ที่เราพบเจอได้บ่อยขึ้นมากในยุคนี้โดยเฉพาะจากสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วที่คนไทยรู้จักกันจะเป็นคำว่า การคุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment เป็นหลัก
แต่จริง ๆ แล้ว Harassment มีแบ่งเป็นการคุกคามแบบต่าง ๆ ละเอียดกว่าที่คิดเสียอีกครับ แล้วจะมีการแบ่ง ハラスメント (harasumento) ที่อาจเจอในที่ทำงานญี่ปุ่นไว้อย่างไรบ้าง บทความนี้เราจะพาไปรู้จักกันครับ
สารบัญเนื้อหา
パワーハラスメント (pawaa harasumento)
การคุกคามหรือกลั่นแกล้งโดยใช้อำนาจ Power Harassment ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกย่อ ๆ ว่า パワハラ (pawahara) เป็นการคุกคามที่เราพบเห็นได้บ่อยในภาพยนต์และซีรีส์เลยครับ แล้วนิยามของ パワハラ เป็นแบบไหน มาดูกัน
パワハラ คือการใช้ตำแหน่งหรืออำนาจที่มีอยู่มาใช้ทำให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ทางจิตใจหรือทางกาย
ตัวอย่างของ パワハラ
- 暴言 bougen คำพูดรุนแรง, คำพูดหยาบคาย
- 人格否定 jinkakuhitei การดูถูกบุคลิกภาพ, การปฏิเสธตัวตน
- 無視 mushi การมองข้าม, การเพิกเฉย, การไม่สนใจ
モラルハラスメント (moraru harasumento)
การคุกคามหรือกลั่นแกล้งทางจิตใจ Moral Harassment ในภาษาญี่ปุ่นจะย่อว่า モラハラ (morahara) เป็นการคุกคามที่แม้แต่ตัวเราเองก็อาจเคยเผลอทำใส่คนอื่นในที่ทำงานไปแล้วก็ได้ครับ
モラハラ คือการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม ที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกอึดอัดใจ
ตัวอย่างของ モラハラ
- 陰口 kageguchi การนินทาลับหลัง
- 仲間はずれ nakamahazure การตัดออกจากลุ่ม, การถูกแยกจากกลุ่มเพื่อน
- デマの流布 dema no rufu การปล่อยข่าวลือเท็จ
セクシュアルハラスメント (sekushuaru harasumento)
การคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ Sexual Harassment ในภาษาญี่ปุ่นจะย่อว่า セクハラ (sekuhara) เป็นการคุกคามที่เราได้เห็นและได้ยินในข่าวหรือสื่อต่าง ๆ มากที่สุดในการคุกคามประเภทต่าง ๆ
セクハラ คือการกระทำหรือคำพูดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ที่ทำให้ผู้อื่นไม่สบายใจ หรือทำให้บรรยากาศในการทำงานแย่ลง
ตัวอย่างของ セクハラ
- 身体接触 shintai sesshoku การสัมผัสร่างกาย
- 性的な冗談 seitekina joudan การล้อเลียนเรื่องเพศ
- デートや食事に誘い続ける行為 deeto ya shokuji ni sasoi tsuzukeru koui การชวนเดทหรือชวนทานข้าวซ้ำ ๆ
การคุกคามประเภทอื่น ๆ ที่อาจจะเจอในที่ทำงานญี่ปุ่น
マタニティハラスメント (mataniti harasumento)
การคุกคามหรือกลั่นแกล้งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หรือกำลังเลี้ยงลูก Maternity harassment ในภาษาญี่ปุ่นจะย่อว่า マタハラ (matahara) ในญี่ปุ่นสามารถลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ 1-2 ปี ทำให้บางคนอาจเกิดความไม่พอใจต่อพนักงานที่กำลังตั้งครรภ์ จนเผลอทำ マタハラ ไปโดยไม่รู้ตัวได้
マタハラ คือการที่ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หลังคลอด หรือกำลังเลี้ยงลูก ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน เช่น การไม่ให้ลาเพื่อไปดูแลลูก การถูกบังคับให้ทำงานยกของหนัก หรืองานสารเคมีระหว่างท้อง และ การพูดจาไม่ดีเกี่ยวกับการตั้งครรภ์
ジェンダーハラスメント (jendaa harasumento)
การกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติทางเพศ Gender Harassment ในภาษาญี่ปุ่นจะย่อว่า ジェンハラ (jenhara) การเลือกปฏิบัติทางเพศมีมานานมากจนแทบจะกลายเป็นความเคยชิน ซึ่ง ジェンハラ นั้นไม่ได้มีแค่ญี่ปุ่น แต่มีแทบทุกที่เลยครับ
ジェンハラ คือการเลือกปฏิบัติหรือการรังแกผู้อื่นโดยมีพื้นฐานมาจากเพศ ทั้ง เพศสภาพ บทบาททางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ ทำให้ผู้อื่นรู้สึกทุกข์ใจ แม้แต่การพูดว่า เป็นผู้หญิงควรทำอาหารได้ หรือ ผู้ชายควรยกของหนักได้ ก็นับเป็น ジェンハラ เช่นกัน
カスタマーハラスメント (kasutamaa harasumento)
การคุกคามหรือกลั่นแกล้งจากลูกค้า Customer Harassment แน่นอนว่าคำนี้เองในภาษาญี่ปุ่นก็มีคำย่อเช่นกันครับ นั่นคือ カスハラ (kasuhara) ใครที่อ่านหรือดูข่าวญี่ปุ่นก็ต้องเคยเห็นหรือได้ยินคำนี้มาบ้าง
ในประเทศญี่ปุ่นผู้ให้บริการ เช่น พนักงานเสิร์ฟ คอลเซ็นเตอร์ หรือพนักงานบริษัทที่ต้องติดต่อกับลูกค้า มักเป็นกลุ่มหลักที่จะเป็นเหยื่อของ カスハラ ทั้งการถูกพูดใส่ด้วยความหยาบคายรุนแรง การเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผล การขอข้อมูลส่วนตัวพนักงาน หรือนำข้อมูลส่วนตัวของพนักงานไปเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต
แต่ในปัจจุบันเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานถูก カスハラ เราก็จะได้เห็นองค์กรต่าง ๆ ออกมาปกป้องพนักงานของตัวเองมากขึ้น บางที่ก็จะทำการเชิญลูกค้าที่คุกคามพนักงานออกจากร้าน หรือยกเลิกการติดป้ายชื่อบนเสื้อพนักงานเพื่อป้องกันข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน
アルコールハラスメント (arukooru harasumento)
การคุกคามหรือกลั่นแกล้งที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ Alcohol Harassment ในภาษาญี่ปุ่นเรียกสั้น ๆ ว่า アルハラ (aruhara) ในประเทศญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการดื่มที่แตกต่างจากไทย ในไทยส่วนใหญ่ถ้าดื่มเสร็จแล้วก็อาจแยกย้ายกันกลับ หรือขอตัวกลับก่อนได้ง่าย ๆ
แต่ไม่ใช่กับประเทศญี่ปุ่นครับ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อดื่มร้านแรกเสร็จแล้วก็จะมีการชวนต่อร้านสองร้านสามแทบทุกครั้ง ( 二次会 nijikai ไปต่อ (ร้านสอง), งานเลี้ยงรอบสอง (หลังจากงานเลี้ยงหลัก) ) และในบริษัทญี่ปุ่นที่เคร่งเรื่องลำดับอาวุโส การจะปฏิเสธหัวหน้าหรือรุ่นพี่ที่ชวนไปดื่มหลังเลิกงาน เป็นอะไรที่น่าอึดอัดใจสำหรับน้องใหม่มากครับ
เพราะฉะนั้นในบริษัทญี่ปุ่นจึงมีโอกาสเกิด アルハラ ขึ้นได้ เพราะการคุกคามประเภทนี้จะเกี่ยวกับการบังคับให้เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องไปดื่ม บอกให้อีกฝ่ายดื่มหมดแก้ว แซว(ดูถูก)ผู้ที่ไม่ดื่มหรือดื่มไม่เก่ง แต่ในยุคปัจจุบันก็ดีขึ้นมากแล้วครับ แม้จะมีบ้างบางที่แต่ส่วนใหญ่ก็ปรับตัว และระมัดระวังเรื่องการคุกคามผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวขึ้นมาก
ถึงแม้ในบทความนี้จะเขียนถึงการคุกคามที่อาจเจอได้ในที่ทำงานญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีโอกาสเจอจริง ๆ เพราะว่าในปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นเองก็จริงจังกับการป้องกันเรื่องเหล่านี้มาก เพราะฉะนั้นคนที่มีแผนจะไปทำงานญี่ปุ่นก็ไม่ต้องกลัวนะ
หากต้องการติดตามข่าวสารญี่ปุ่น คอนเทนต์สนุก ๆ หรือโปรโมชั่นคอร์สเรียนต่าง ๆ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางด้านล่างครับ
สนใจการเรียนภาษาออนไลน์ สามารถดูคอร์สเรียนโรงเรียนภาษาและวัฒนธรรม ส.ส.ท. ได้ที่ www.tpaeduways.com