ทุกประเทศล้วนมีงานแปลก ๆ ที่น่าสนใจเสมอ ทั้งแปลกแบบร้อง ‘ว้าว’ งานแบบนี้ก็มีด้วย และแปลกแบบร้อง ‘ห้ะ’ มีงานแบบนี้ด้วยหรือเนี่ย
ญี่ปุ่นเองก็มีงานแปลก ๆ ที่เราได้เห็นบนโซเชียลมีเดียกันมาบ้างอย่างบริการ ‘ให้เช่าตัวเอง’ เป็นต้น แต่รู้ไหมครับ ยังมีงานในญี่ปุ่นแปลก ๆ อีกเยอะที่แม้แต่คนญี่ปุ่นก็แทบไม่รู้จักแต่รายได้ดีอยู่ด้วยนะ
งานในญี่ปุ่นสุดแปลก
1. พนักงานทำความสะอาดสถานที่เกิดเหตุ (特殊清掃員 / tokushu seisouin)
พนักงานทำความสะอาดสถานที่เกิดเหตุต่างจากพนักงานทำความสะอาดทั่วไปตรงที่สถานที่ทำงานของงานนี้มักมีกลิ่นที่รุนแรงหรือสกปรกมาก เนื่องจากสถานที่ทำงานของพวกเขาก็คือ ห้องที่พบศพ นั่นเอง
รายได้เฉลี่ยต่อปีของงานนี้อยู่ที่ 3 ล้านถึง 4 ล้านเยน นับว่าเป็นงานที่มีรายได้ที่ดี และคุณสมบัติของผู้ที่เหมาะกับงานนี้ก็ไม่ยากครับ เพียงแค่คุณจิตแข็งสามารถทำใจให้สงบได้ไม่ว่าจะเห็นอะไรเท่านั้นเอง
2. บริการตัวแทนต่าง ๆ (各種代行サービス / kakushu daikou saabisu)
อีกหนึ่งงานในญี่ปุ่นที่แปลกแต่มีจริง หลาย ๆ คนอาจรู้จักหนึ่งในบริการประเภทนี้อย่าง แฟนเช่า (แฟนสาว レンタル彼女 / rentaru kanojo , แฟนหนุ่ม レンタル彼氏 / rentaru kareshi) หรือ เพื่อนเช่า (レンタル友達 / rentaru tomodachi) กันบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีบางบริการที่แม้แต่คนญี่ปุ่นก็ยังต้องร้องว่า ‘ห้ะ มีแบบนี้ด้วยหรือ’
นั่นคือบริการ เช่าตัวแทนเข้าร่วมงานแต่ง เป็นการเช่าผู้ให้บริการไปร่วมงานแต่งของตน โดยมีบทบาทให้เลือกตั้งแต่ไปร่วมงานแต่งในฐานะเพื่อน หรือคนในที่ทำงานเดียวกัน ไปจนถึงเครือญาติ หรือพ่อแม่เลยครับ
รายได้เฉลี่ยต่อปีของงานนี้อยู่ที่ 3.5 ล้านถึง 4 ล้านเยน แต่การจะทำงานนี้ให้ออกมาดี ก็คงต้องมีทักษะในการสื่อสารที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยมากทีเดียว เพราะบางครั้งคุณอาจต้องสวมบทบาทเป็นพ่อแม่ของคนอื่น
3. ผู้ตรวจประเมินลูกไก่ (ひよこ鑑定士 / hiyoko kanteishi)
ひよこ鑑定士 ถ้าแปลตรงตัวก็จะแปลได้ว่า “ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจประเมินลูกไก่” มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 初生雛 (shoseibina) 鑑別師 (kanbetsushi) ที่แปลได้ว่า “ผู้เชี่ยวชาญการจำแนกเพศลูกไก่แรกฟัก”
หน้าที่ในการตรวจสอบลูกไก่แรกเกิดว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย รวมถึงดูความแข็งแรงและลักษณะภายนอกของลูกไก่
รายได้เฉลี่ยต่อปีของงานนี้อยู่ที่ 5 ล้านถึง 6 ล้านเยน แม้จะดูเป็นงานที่เรียบง่ายรายได้ดี แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถทำได้ทุกคนนะครับ เพราะงานนี้ต้องผ่านการเข้าเรียนหลักสูตร 5 เดือนสำหรับการฝึกตรวจสอบลูกไก่ จากนั้นก็จะถูกส่งไปเป็นผู้ฝึกหัดที่โรงฟักไข่ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นเวลา 1-3 ปี และที่สำคัญค่าใช้จ่ายในช่วงการฝึกอบรมว่ากันว่ามากกว่า 1 ล้านเยนเลยทีเดียว
4. นักบินโดรน (ドローン操縦士 / doroon soujuushi)
นักบินโดรนจะควบคุมโดรนให้ปฏิบัติงานที่ปกติทำได้ยากหรือมีความเสี่ยง เช่น การถ่ายภาพทางอากาศ การพ่นยาฆ่าแมลง การสำรวจโครงสร้างอาคาร หรือพื้นที่อันตราย คุณสมบัติของนักบินโดรนก็ไม่ซับซ้อนครับ ขอแค่ควบคุมโดรนได้อย่างคล่องแคล่ว อย่างอื่นก็ง่ายแล้ว
ถึงจะดูเป็นงานที่ไม่ซับซ้อน แต่นักบินโดรนในญี่ปุ่นก็มีรายได้เฉลี่ยต่อปีที่สูงเช่นกัน โดยอยู่ที่ 3 ล้านถึง 4 ล้านเยน และเพราะโดรนเป็นเทคโนโลยีใหม่ จึงถึงว่าเป็นงานที่มีอนาคตสดใสทีเดียวครับ
5. นักดำน้ำเก็บลูกกอล์ฟ (ゴルフボールダイバー / gorufu booru daibaa)
อีกหนึ่งงานที่ญี่ปุ่นที่ไม่คิดว่าจะมีก็คือนักดำน้ำเก็บลูกกอล์ฟ ซึ่งมีหน้าที่ตรงตามชื่อเลยครับ นั่นคือการเก็บรวบรวมลูกกอล์ฟที่ตกลงไปในบ่อน้ำที่สนามกอล์ฟและนำไปขายให้กับร้านค้าหรือผู้จำหน่ายเฉพาะทาง โดยราคาที่ขายได้ต่อลูกอยู่ที่ 10 – 100 เยน แล้วแต่สภาพของลูกกอล์ฟ
ถึงแม้ราคาต่อลูกจะต่ำแต่รายได้เฉลี่ยต่อปีของนักดำน้ำเก็บลูกกอล์ฟไม่ต่ำเลยครับ โดยงานนี้มีรายได้อยู่ที่ 5 ล้านถึง 6 ล้านเยนต่อปี แม้ทำงานเพียง 2 – 3 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น
และใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำงานนี้ได้ สำหรับผู้ที่จะทำงานนี้จำเป็นต้องมีใบอนุญาตนักดำน้ำก่อน แต่ถ้ามีใบอนุญาตแล้ว ประสบการณ์ในการทำงาน อายุ เพศ ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป ขอเพียงแค่คุณเก็บลูกกอล์ฟในบ่อน้ำได้ก็พอ โดยปกติผู้ที่มีอาชีพหลักเป็นนักดำน้ำเก็บลูกกอล์ฟจะเก็บลูกกอล์ฟได้ 6,000 – 12,000 ลูก ภายใน 2 – 3 ชั่วโมงครับ
6. เจ้าหน้าที่ในฐานทัพสหรัฐฯ (米軍基地職員 / beigun kichi shokuin)
ใช่แล้วครับ ในญี่ปุ่นก็มีงานนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเสียเท่าไรเพราะที่ญี่ปุ่นมีฐานทัพของกองทัพสหรัฐฯ กระจายอยู่ทั่วประเทศ
งานนี้จะมีหน้าที่แตกต่างกันไปตามทักษะส่วนบุคคล ซึ่งมีตั้งแต่งานวิศวกรรมไปจนถึงงานที่ช่วยสนับสนุนชีวิตของกองทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น
รายได้เฉลี่ยต่อปีของงานนี้อยู่ที่ 4 ล้านถึง 5 ล้านเยน และนอกจากจะต้องมีทักษะพื้นฐานสำหรับการทำงานแล้ว ทักษะภาษาอังกฤษก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของงานนี้ด้วยเช่นกันครับ
7. นักตรวจสอบและตัดสินกลิ่น (臭気判定士 / shuuki hanteishi)
งานของนักตรวจสอบกลิ่นคือการประเมินและวิเคราะห์กลิ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะกลิ่นที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ หรือ กลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้นในโรงงาน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้แก้ไขปัญหาและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ถึงงานนี้จะต้องทำงานกับกลิ่นแต่ไม่ใช่ว่าจำเป็นต้องมีประสาทรับกลิ่นที่ดีเป็นพิเศษ อันที่จริงคนที่มีประสาทรับกลิ่นแบบคนทั่วไปจะเหมาะกับงานแบบนี้มากกว่าครับ
นอกจากการแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นแล้วทักษะของนักตรวจสอบกลิ่นยังจำเป็นสำหรับการวิจัยและพัฒนา ‘กลิ่นหอม’ ของ สบู่ แชมพู อีกด้วย โดยรายได้เฉลี่ยต่อปีของงานนี้จะอยู่ที่ 3 ล้านถึง 3.5 ล้านเยนครับ
8. นักเขียนด้านเทคนิค (テクニカルライター / tekunikuru raitaa)
งานนี้อาจดูเหมือนไม่แปลกแต่ก็มีคนรู้จักน้อยครับ นักเขียนด้านเทคนิค คือนักเขียนที่เขียนคู่มือการใช้งานที่เราจะได้เมื่อซื้อสินค้าใหม่ เช่น ของใช้ในบ้าน รถยนต์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ
หน้าที่ของนักเขียนด้านเทคนิคคือการเขียนคู่มือให้ผู้ใช้สามารถอ่านเข้าใจง่าย และในบางครั้งนักเขียนก็จะต้องศึกษาหาความรู้เฉพาะทางด้วยตัวเองเพื่อให้เข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ก่อนเขียนคู่มือ
รายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 6 ล้านถึง 6.5 ล้านเยน นับว่าเป็นงานที่รายได้ดีเลยครับ สมกับที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในศัพท์ทางเทคนิคและทักษะการเขียนสรุปให้เข้าใจง่าย
9. พนักงานป้องกันการขโมย (万引き Gメン / manbiki G men)
งานนี้ถ้าแปลตรงตัวจะได้ว่า ‘พนักงานปราบขโมย’ ชื่องานฟังดูบู๊ไม่น้อย แต่ภาระงานจริง ๆ ของ G-men ไม่ใช่การไปออกคิวบู๊ต่อกรกับขโมยแบบนั้นเสียทีเดียวครับ
หน้าที่ของ G-men มีตั้งแต่การเฝ้าระวังคอยเดินตรวจตราภายในร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือสถานที่ที่ได้รับการว่าจ้าง คอยให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการขโมยของกับพนักงานในร้าน ติดตั้งกล้องวงจรปิด และจัดเรียงสินค้าให้ยากแก่การขโมย
เมื่อ G-men พบเห็นลูกค้าทำการขโมยของ แอบหยิบสินค้าใส่กระเป๋า G-men ก็จะเข้าไปจับตัวลูกค้าคนนั้นพร้อมหลักฐานทันที จากนั้นจึงทำการส่งมอบให้ตำรวจดำเนินการต่อ
รายได้เฉลี่ยต่อปีของ G-men อยู่ที่ 2.5 ล้านถึง 3 ล้านเยน ความยากของงานนี้คือการที่คุณต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าให้ดี เพราะถ้า G-men เกิดเข้าใจผิดแล้วพุ่งไปจับผิดคนก็อาจเป็นปัญหาใหญ่ได้เลยเช่นกันครับ
10. นักช็อปปริศนา (ミステリーショッパー / misuterii shoppaa)
เป็นอีกงานที่ชื่อฟังดูเท่ไม่น้อย แต่นักช็อปปริศนาอาจเรียกว่าเป็นงานประจำได้ยาก เหมาะกับการเป็นงานพาร์ตไทม์มากกว่า เนื่องจากความไม่สม่ำเสมอและรายได้ที่ไม่สูงนัก
งานของนักช็อปปริศนาให้อารมณ์เหมือนนักสืบนอกเครื่องแบบที่แทรกซึมเข้าไปในร้านค้าที่ว่าจ้างให้ไปลองใช้บริการในฐานะลูกค้า และรายงานเกี่ยวกับการบริการของพนักงานและคุณภาพการบริการแก่เจ้าของร้านที่เป็นผู้ว่าจ้าง
รายได้เฉลี่ยต่อปีของนักช็อปปริศนาอยู่ที่ 5 แสนถึง 1 ล้านเยน นับว่าเป็นงานเสริมที่เหมาะกับคนช่างสังเกต และใช้เวลาในการทำงานไม่นาน จึงสามารถทำในช่วงหลังเลิกงานหรือช่วงวันหยุดได้ด้วยครับ
นอกจาก 10 งานน่าสนใจในบทความนี้แล้ว ยังมีงานในญี่ปุ่นสุดแปลกที่คนญี่ปุ่นรู้จักน้อยงานอื่น ๆ อยู่อีกมากเลยครับ และหลาย ๆ งานก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนญี่ปุ่นเท่านั้นถึงทำได้ ขอแค่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นพอสื่อสารและอ่าน-เขียนได้เท่านั้นก็พอ
แปลว่าถ้าเรารู้ภาษาและมีทักษะเฉพาะตัวเสียหน่อย จะไปทำงานที่ไหนก็ได้ทั้งนั้นครับ สำหรับใครที่อยากเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่ออนาคตแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี ผมขอแนะนำบทความ เริ่มต้นเรียนภาษาญี่ปุ่นยังไงดี และสำหรับคนอยากลองเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผมขอแนะนำบทความ 6 แอป 1 เว็บฝึกภาษา ครับ
หากต้องการติดตามข่าวสารญี่ปุ่น คอนเทนต์สนุก ๆ หรือโปรโมชั่นคอร์สเรียนต่าง ๆ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางด้านล่างครับ
สนใจการเรียนภาษาออนไลน์ สามารถดูคอร์สเรียนโรงเรียนภาษาและวัฒนธรรม ส.ส.ท. ได้ที่ www.tpaeduways.com