วันปีใหม่ของญี่ปุ่นเริ่มวันที่ 1 มกราคมของทุกปี และในสามวันแรกของปี (1 มกราคม ถึง 3 มกราคม) จะเรียกว่า 正月三が日 (shou gatsu san ga nichi) หรือ 三が日(san ga nichi) บริษัทและร้านค้าส่วนใหญ่จะปิดทำการและจัดกิจกรรมปีใหม่กันในช่วงเวลานี้
แล้วในวันปีใหม่คนญี่ปุ่นเตรียมตัวต้อนรับปีใหม่กันยังไง มีกิจกรรมอะไรช่วงปีใหม่บ้างมาดูกันเลย!
โซบะส่งท้ายปี (年越しそば toshikoshi soba)
คือโซบะที่คนญี่ปุ่นนิยมทานพร้อมกับครอบครัวส่งท้ายปี เพราะมีความเชื่อกันมาตั้งแต่สมัยช่วงกลางของยุคเอโดะว่าโซบะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ คนจึงนิยมทานโซบะส่งท้ายปีเพื่อเป็นการขอพรให้ร่างกายแข็งแรงมีอายุยืนยาว
การรับประทานโซบะส่งท้ายปีนั้นสามารถทานตอนไหนก็ได้แต่ควรทานให้เสร็จก่อนปีใหม่ เพราะมีความเชื่อกันว่า หากทานโซบะส่งท้ายปีหลังจากปีใหม่ไปแล้วจะถือว่าเป็นโชคร้าย
ระฆังส่งท้ายปี (除夜の鐘 joya no kane)
อีกหนึ่งกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าที่คนญี่ปุ่นนิยม นอกจากโซบะส่งท้ายปีแล้วก็คือระฆังส่งท้ายปีนี่เองครับ บางครอบครัวจะมีการรวมตัวกันนั่งดูการตีระฆังส่งท้ายปีที่หน้าทีวี ส่วนครอบครัวที่ขยันหน่อยก็จะออกไปเยี่ยมชมศาลเจ้าและตีระฆังด้วยกันในคืนวันส่งท้ายปี ซึ่งคำว่า 除夜の鐘 มาจากคำว่า คืนวันส่งท้ายปีเก่า (除日の夜 jojitsu no yoru) กับ ระฆัง (鐘 kane) นั่นเองครับ
การตีระฆังในวันส่งท้ายปีเก่าถือว่าเป็นพิธีรำลึกอย่างหนึ่ง และในศาสนาพุทธเชื่อกันว่าเสียงระฆังส่งท้ายปีเก่ามีพลังในการขจัดความทุกข์และความกังวลได้
ในคืนวันส่งท้ายปีเก่า วัดทั่วประเทศญี่ปุ่นจะตีระฆังส่งท้ายปีเก่าทั้งหมด 108 ครั้งตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนเป็นต้นไป ตัวเลข 108 นี้มีความหมายถึง “กิเลศ 108 ประการ” ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ การตี 108 ครั้งจึงมีความหมายถึงการสวดภาวนาเพื่อกำจัดกิเลศเหล่านี้ และถึงแม้ว่าวัดส่วนใหญ่จะตี 108 ครั้ง แต่ก็มีบางวัดที่ตีมากกว่า 200 ครั้งด้วยเช่นกัน
แสงแรกของปี (初日の出 hatsu hi no de)
คือการไปชมพระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกของปีในจุดที่เห็นพระอาทิตย์ได้ชัดเจนอย่างเช่น ริมทะเล บนภูเขา หรือจุดชมวิวในละแวกบ้าน 初日の出 เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เป็นที่นิยมมากในช่วงปีใหม่ของญี่ปุ่น และเป็นไม่กี่วันที่ทำให้ผู้คนยอมตื่นเช้ากว่าปกติ
มีความเชื่อและตำนานเล่าขานกันว่า แสงแรกของปี จะมาพร้อมกับเทพเจ้าปีใหม่ (歳神様 Toshi gami sama) ที่ลงมาจากยอดภูเขาสูง จึงเชื่อกันว่าการได้ขอพรกับแสงแรกของปีจะช่วยให้มีความสุขตลอดทั้งปี
ขอพรวันปีใหม่ (初詣 hatsu moude)
คือการไปสักการะที่ศาลเจ้าเป็นครั้งแรกของปีเพื่อแสดงความขอบคุณในปีที่ผ่านมาและขอพรให้มีความสุขในปีใหม่ กิจกรรมนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 7 มกราคม แต่ในบางภูมิภาคก็ขอพรได้ถึงวันที่ 15 มกราคม
โอเซจิ (おせち料理 osechi ryouri)
คืออาหารมงคลสำหรับวันขึ้นปีใหม่ อาหารแต่ละอย่างในโอเซจิมีความหมายเกี่ยวกับความเป็นมงคลในด้านต่าง ๆ อีกเหตุผลที่คนญี่ปุ่นนิยมรับประทานโอเซจินอกจากเพราะว่าเป็นอาหารที่เกี่ยวกับความมงคลแล้ว ยังเป็นเพราะช่วยประหยัดแรงแม่บ้านไปด้วยในตัว
เนื่องจากโอเซจิเป็นอาหารที่ต่อให้เย็นแล้วก็ยังอร่อยสามารถเก็บไว้ได้นาน แม่บ้านหรือคนที่มีหน้าที่ทำอาหารในแต่ละครอบครัวจึงมักทำโอเซจิไว้ให้มากพอต่อการทานหลายวัน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอาหารในช่วงวันปีใหม่ สามารถพักผ่อนได้อย่างสบายใจ
ทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ส่งท้ายปี (大掃除 oosouji)
วันสุดท้ายของปีคนญี่ปุ่นมีความเชื่อกันว่า การทำความสะอาดบ้านส่งท้ายปีคือการปัดกวาดสิ่งสกปรกและโชคร้ายของปีที่ผ่านมาออกไป เพื่อเตรียมต้อนรับสิ่งดี ๆ ที่จะเข้ามาในปีใหม่
นอกจากนี้บางบ้านก็อาจจะยุ่งกับงานหรือชีวิตประจำวันมากเสียจนไม่ได้ทำความสะอาดบ้านอย่างจริงจังเลย ดังนั้น 大掃除 จึงเป็นเหตุผลดี ๆ ที่ทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกขยันปัดกวาดเช็ดถูทุกซอกทุกมุมของบ้านนั่นเองครับ
ตกแต่งบ้านรับปีใหม่ (門松 kadomatsu)
ในช่วงสิ้นปีของทุกปีคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะประดับประตูรั้วหรือประตูบ้านของตัวเองด้วย 門松 ที่ทำจากไม้ไผ่สามปล้องมัดรวมกัน ประดับด้วยกิ่งสนและสิ่งของมงคลอื่น ๆ โดยทำหน้าที่เป็นจุดสังเกตแก่เทพเจ้าแห่งวันปีใหม่เพื่อให้สังเกตเห็นและเข้ามาในบ้านนั่นเองครับ
และนี่คือกิจกรรมที่คนญี่ปุ่นนิยมทำในช่วงปีใหม่ของญี่ปุ่นครับ ถึงแม้ในปัจจุบันบางครอบครัวอาจไม่ได้จริงจังกับการตกแต่งบ้านด้วยคาโดมัตสึแล้ว แต่ก็ยังหาซื้อคาโดมัตสึชิ้นเล็ก ๆ มาแขวนที่หน้าประตูเพื่อให้ดูสมกับบรรยากาศเทศกาลปีใหม่ เรียกได้ว่าญี่ปุ่นเองก็มีวิธีการฉลองปีใหม่ในแบบของตนเองที่เป็นเอกลักษณ์มากเช่นกันครับ
สำหรับผู้ที่สนใจการทำงานในประเทศญี่ปุ่นหรืออยากรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานในประเทศญี่ปุ่นสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางด้านล่างครับ
สนใจการเรียนภาษาออนไลน์ สามารถดูคอร์สเรียนโรงเรียนภาษาและวัฒนธรรม ส.ส.ท. ได้ที่ www.tpaeduways.com